สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Work & Travel และแฟนๆ Dek-D.com ทุกคน วันนี้ พี่พิซซ่า กลับมาพร้อมข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาอีกครั้งค่ะ คราวก่อนเราไปดูรายชื่อรัฐที่ขึ้นค่าแรงรับปี 2014 กันแล้ว คราวนี้เราไปดู "4 รัฐที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยกว่า $7.25 ต่อชั่วโมง" กันบ้าง เผื่อชวดงานในรัฐที่ค่าแรงสูงๆ แล้ว จะได้ระมัดระวังในการสมัครงานกับรัฐพวกนี้ค่ะ
น้องๆ คงทราบกันดีแล้วว่าค่าแรงขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกาตามระเบียบของรัฐบาลกลางคือ $7.25 ต่อชั่วโมง ซึ่งส่วนมากก็ยึดตามราคานี้กัน ยกเว้นบางรัฐที่ค่าครองชีพสูงจริงๆ ที่จะอัพค่าแรงให้สมเหตุสมผล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีรัฐที่ค่าครองชีพต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐเหล่านี้จะออกกฎหมายให้ค่าจ้างขั้นต่ำภายในรัฐของเขาต่ำกว่าของรัฐบาลกลางเสียอีก
จริงๆ แล้วที่กระทรวงแรงงานกำหนดไว้ว่า $7.25 ต่อชั่วโมงนั้น ก็มีการยืดหยุ่นเอาไว้ให้ว่า แต่ละรัฐสามารถกำหนดต่างไปจากนี้ได้ แต่ต้องทำให้ลูกจ้างมีค่าตอบแทนที่พอเพียงต่อการดำรงชีพในรัฐนั้นๆ ค่ะ ซึ่งค่าแรง $7.25 นี้ รัฐบาลกลางถือว่าโอเคแล้ว เริ่มงงแล้วสิ งั้นไปดูรายชื่อทั้ง 4 รัฐที่ว่ากันเลยดีกว่า น้องจะได้เห็นตัวอย่างกันง่ายขึ้น
รัฐ | ค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมง |
Arkansas | $6.25 |
Georgia | $5.15 |
Minnesota | $5.25 หรือ $6.15 |
Wyoming | $5.15 |
แล้วจะพอกินรึนั่น!?
พี่จะอธิบายเรียงไปทีละรัฐเลยนะคะ เพราะแต่ละรัฐก็มีนโยบายของตัวเองแบบไม่ปรึกษากันเลยค่ะ
รัฐ Arkansas นั้น กำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ $6.25 ต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าโอเคมากเลยเพราะอาร์คันซอเป็น 1 ในรัฐที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในสหรัฐค่ะ สมมติว่าของที่ขายในราคาเฉลี่ย $100 นั้น ถ้าเอาไปขายที่นิวยอร์กจะราคา $165 แต่ถ้าซื้อที่อาร์คันซอ น้องจะซื้อได้ในราคาเพียง $80 เท่านั้นค่ะ พอจะเห็นภาพรวมคร่าวๆ แล้วนะคะว่าค่าครองชีพที่ต่ำเนี่ยมันต่ำกว่ายังไง
แต่ถ้าทำงานในร้านที่มีการคิด Service Charge อยู่แล้วในทุกการซื้อสินค้าหรือบริการ ค่าจ้างจะกลายเป็น $3.62 ต่อชั่วโมงแทนค่ะ ส่วนร้านที่อยู่ได้ด้วยทิปจากลูกค้า พนักงานจะได้ค่าแรงขั้นต่ำเหลือเพียง $2.63 ต่อชั่วโมง ซึ่งตามกฎหมายของรัฐแล้วระบุไว้ว่า นายจ้างที่เลือกให้ค่าจ้างแบบ 2 อย่างหลังเนี่ยต้องมั่นใจว่าเมื่อรวมค่าเซอร์วิสชาร์จหรือค่าทิปแล้ว ลูกจ้างจะต้องได้รวมแล้วห้ามต่ำกว่า $6.25 ต่อชั่วโมงเด็ดขาด ถ้าต่ำกว่าล่ะก็ นายจ้างจะต้องหาเหตุให้เงินโบนัสหรือค่าตอบแทนใดๆ ก็ได้จนไปเท่ากับ $6.25 ต่อชั่วโมง
น้องๆ คงสงสัยแล้วว่า ก็ถ้าจะต้องโปะเพิ่มจนถึง $6.25 อยู่ดี ทำไมไม่ให้เท่านี้ไปซะแต่ต้นให้หมดเรื่อง เหตุผลก็คือทางรัฐเชื่อว่าการให้ค่าตอบแทนแบบ 2 อย่างหลังนั้นจะเปิดโอกาสให้พนักงานได้เงินมากกว่าขั้นต่ำเยอะมาก เพราะรัฐอาร์คันซอเป็นรัฐที่ขึ้นชื่อในเรื่องธรรมชาติและความเงียบสงบ ที่คนมีเงินจากรัฐใหญ่ๆ ชอบไปพักผ่อนกัน และลูกค้ากลุ่มนี้ก็ทิปหนักมาก และด้วยความที่ข้าวของถูกกว่าที่บ้านก็ทำให้บ้าช้อปปิ้งซื้อกันแบบไม่ค่อยคิดมาก เผลอๆ แล้วอาจได้ค่าเซอร์วิสชาร์จหรือทิปมากถึง $15 ต่อชั่วโมงก็ได้ เหตุผลดูฟังขึ้นเลยใช่มั้ยล่ะ
รัฐ Georgia เป็นรัฐที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวประเภทชอบผจญภัย เล่นอะไรหวาดเสียวหรืออันตราย หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้ที่มีศิลปะในหัวใจ เพราะที่นี่มีทั้งแม่น้ำที่เหมาะแก่การล่องแก่งแบบท้ามฤตยู และมีสถานที่แสดงดนตรีแนวๆ ทั่วไปหมด ถ้าเทียบแล้วคงต้องบอกว่าเป็น "บ้านพักตากอากาศของเด็กแนว" ก็ได้ค่ะ ค่าครองชีพก็มากกว่าที่อาร์คันซอไม่เท่าไหร่เองด้วย ฉะนั้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงอยู่ที่ $5.15 ต่อชั่วโมงแต่ก็เล่นมุกคล้ายกับอาร์คันซอ ตรงที่รัฐนี้ชอบคิด Service Charge ไปซะกับทุกอย่าง กฎหมายจึงบอกว่าลูกจ้างต้องได้ค่าตอบแทนที่รวมๆ แล้วถึง $7.25 ต่อชั่วโมงให้ได้ ทีนี้ก็ขึ้นกับตัวน้องเองแล้วค่ะว่าจะขยันได้ขนาดไหน ยิ่งทำได้มาก เซอร์วิสชาร์จก็ยิ่งมากตาม
รัฐ Minnesota มีค่าแรงขั้นต่ำ 2 อัตรา ขึ้นกับขนาดของธุรกิจค่ะ ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กเช่นร้านอาหารของตระกูล หรือโรงแรมที่สืบทอดกันมาจะได้ที่ $5.25 ต่อชั่วโมง แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่อย่างร้านหรือโรงแรมที่มีสาขาทั่วประเทศ จะได้เป็น $6.15 ต่อชั่วโมงค่ะ และด้วยความที่มี 2 อัตราแตกต่างกันก็เลยใช้ระบบ Service Charge หรือ Tip ตาม 2 รัฐก่อนหน้าแล้วไม่ได้ มินนิโซต้าจึงใช้วิธีเพิ่มชั่วโมงการทำงานแทนค่ะ โดยทั่วไปจะทำงานกันได้ 32 - 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ที่นี่ให้ทำได้ถึง 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนขยันค่ะ ทำมากได้มาก
รัฐ Wyoming ก็เป็นอีกรัฐที่ใช้วิธี "รวมทิปให้ถึงขั้นต่ำ" ค่ะ นั่นคือถ้าเป็นงานแบบมีเซอร์วิสชาร์จจะได้ $5.15 ต่อชั่วโมง แต่ถ้าเป็นงานแบบรวมทิป จะได้ค่าจ้างขั้นต่ำเพียงชั่วโมงละ $2.13เท่านั้น แต่ไม่ว่าจะได้อัตราไหนเมื่อรวมค่าเซอร์วิสชาร์จและทิปแล้วจะต้องถึง $7.25 ต่อชั่วโมงให้ได้ค่ะ
แต่ข้อแม้เล็กๆ น้อยๆ ของไวโอมิ่งคือในช่วงที่กำลังเรียนรู้งานนั้น (มักไม่เกิน 2 สัปดาห์) จะได้ค่าตอบแทนเพียง $4.25 ต่อชั่วโมงเท่านั้น ส่วนสินน้ำใจจากลูกค้าถือว่าเป็นของต่างหาก และกฎหมายไม่รับรองให้ในระหว่างช่วงเวลานี้จำเป็นต้องถึง $7.25 ด้วย รัฐนี้จึงเหมาะกับคนเรียนรู้งานเร็ว เพราะยิ่งเป็นพนักงานจริงๆ ได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เงินมากขึ้นเท่านั้นค่ะ
แถมท้ายคราวนี้ คือรายชื่อรัฐ 5 รัฐที่ไม่มีกฏหมายค่าจ้างขั้นต่ำรองรับค่ะ นั่นคือ ค่าแรงเกิดจากการตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างล้วนๆ ทั้ง 5 รัฐนี้ได้แก่ Alabama, Louisiana, Mississippi, South Carolina และ Tennessee ค่ะ ซึ่งตอนสัมภาษณ์งานกับนายจ้างนั้น น้องต้องตกลงเรื่องนี้กับนายจ้างให้ได้นะคะว่าจะให้ระบบไหนและเท่าไหร่ แถมตอนตกลงกันอย่าลืมจดเป็นหลักฐานไว้ด้วย พอไปเซ็นสัญญาที่โน่นจริงๆ ก็ต้องดูให้ดีด้วยว่าตรงกับที่เขาตกลงกับเราตอนแรกรึเปล่า ถ้าเขาให้มากกว่าที่ตกลงกันก็เงียบๆ ไว้ละกัน 555
1. ถ้าไม่มีข้อมูลเรื่องค่าตอบแทนมาให้แต่แรก น้องต้องตกลงให้ยังไงขั้นต่ำเราต้องได้ $7.25 ต่อชั่วโมงให้ได้
2. งานที่ใช้ระบบ Service Charge หรือ Tip และงานที่สามารถทำเกิน 40 ชั่วโมงได้นั้น น้องต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าที่นั่นเขาให้ทิปเยอะกันจริงรึเปล่า หรือว่าลูกค้าเยอะจนทำงานได้เกิน 40 ชั่วโมงจริงหรอ โดยถามจากผู้ที่เคยไปทำงานที่นั่นมาก่อนค่ะ ถ้าได้งานในที่ที่เป็นช่วง Low Season พอดี ขาดทิปขาดชั่วโมงแน่ๆ เลย แต่ถ้าเช็คแล้วว่าขายดีสุดๆ ชัวร์ล่ะก็ อาจจะได้เงินมากกว่าคนที่ไปทำงานรัฐที่ค่าจ้างสูงๆ ก็ได้ค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างคะกับรัฐอีก 9 แห่งที่พอจะเป็นตัวเลือกสำรองได้ เมื่อรวมกับ 13 รัฐที่ขึ้นค่าแรงไปแล้วนั้น ก็ทำให้มีข้อมูลตัดสินใจเลือกรัฐเลือกงานมากขึ้นแล้วละเนอะ ส่วนรัฐอื่นๆ ที่พี่ไม่ได้พูดถึงทั้งคราวก่อนและคราวนี้นั้น มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ $7.25 ต่อชั่วโมงตามกฎหมายค่ะ ส่วนเรื่องของทิปอะไรพวกนี้ ขึ้นกับวัฒนธรรมองค์กรนั้นๆ เองเลยค่ะ (จำนวนรัฐไม่ใช่น้อยๆ เลยนะนั่น ปาดเหงื่อแป๊บ) ก่อนจากกันก็ขอให้ชาว Work & Travel ทุกคนได้งานที่ตัวเองชอบและค่าตอบแทนสูงถูกใจกันถ้วนหน้านะคะ ^__^
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา http://www.dol.gov/
และเว็บไซต์ของกรมแรงงานรัฐอาร์คันซอ กรมแรงงานรัฐจอร์เจีย
สหพันธ์แรงงานรัฐหลุยส์เซียน่า กรมบริการกำลังคนรัฐไวโอมิ่ง
กรมแรงงานและอุตสาหกรรมรัฐมินนิโซต้า
กรมแรงงาน, การประกอบการและระเบียบการจ้างงานรัฐเซาธ์แคโรไลน่า
กรมแรงงานและพัฒนากำลังคนรัฐเทนเนสซี
CREDIT : http://www.dek-d.com/studyabroad/33967/