“ระบำมรณะ” ประกอบด้วยความตายที่อุปมาเป็นบุคคลที่นำแถวผู้เต้นรำไปยังที่ฝังศพ ผู้ที่เต้นรำก็จะมาจากชนทุกระดับชั้นที่มักจะประกอบด้วยพระจักรพรรดิ, พระเจ้าแผ่นดิน, เด็กหนุ่ม และหญิงสาว ทั้งหมดมักจะอยู่ในรูปของโครงกระดูกหรือกึ่งเน่าเปื่อย การสร้างงาน “ระบำมรณะ” ก็เพื่อเป็นการเตือนว่าชีวิตเป็นของไม่แน่นอนและความมีเกียรติมีศักดิ์เป็นเพียงของนอกกาย ที่มาของ “ระบำมรณะ” มาจากภาพประกอบหนังสือเทศน์ ตัวอย่างที่เก่าที่สุดที่พบมาจากสุสานในปารีสในปี ค.ศ. 1424
งานศิลปะที่เก่าที่สุดของ “ระบำมรณะ” เป็นงานจิตรกรรมในสุสานของวัดโฮลีอินโนเซนต์ส์ในปารีสจาก ค.ศ. 1424 นอกจากนั้นก็ยังมีงานของ คอนราด วิตซ์ (Konrad Witz) ที่บาเซลจาก ค.ศ. 1440; เบิร์นท โนตเค (Bernt Notke) ที่ลือเบ็คจาก ค.ศ. 1463; และงานแกะไม้ออกแบบโดยฮันส์ โฮลไบน์ (ผู้ลูก) และแกะโดยฮันส์ ลึทเซลเบอร์เกอร์ (Hans Lützelburger) จาก ค.ศ. 1538
จิตรกรรม
ความสยดสยองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14—จากความอดอยากที่เกิดขึ้นหลายครั้ง; สงครามร้อยปีในประเทศฝรั่งเศส; และที่สำคัญที่สุดก็คือกาฬโรคระบาดในยุโรป—เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อวัฒนธรรมทั่วไปในยุโรป บรรยากาศของความตายอันทรมานที่เห็นอยู่โดยทั่วไปที่อาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้หรือเมื่อใดก็ได้ ทำให้ผู้คนหันไปหาศาสนาเพราะความรู้สึกว่าตนเองมีความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดความต้องการที่จะมีความสนุกขณะที่ยังมีโอกาส “ระบำมรณะ” รวมทั้งสองความต้องการที่คล้ายคลึงกับละครปริศนา (mystery plays) ของยุคกลาง อุปมานิทัศน์ ของ “ระบำมรณะ” ในสมัยแรกเป็นบทสั่งสอนเพื่อเตือนถึงความตายที่จะมาถึงเมื่อใดก็ได้ และเป็นการเตือนให้มีความเตรียมพร้อมตลอดเวลา
ตัวอย่างแรกที่สุดของละครที่เป็นบทพูดสั้นๆ ระหว่าง “ความตาย” และผู้ที่กำลังจะตายแต่ละคนพบหลังจากกาฬโรคระบาดในประเทศเยอรมนี (ที่เรียกกันว่า “Totentanz” และในประเทศสเปนที่เรียกกันว่า “la Danza de la Muerte”) ในฝรั่งเศสคำว่า “danse macabre” คงมาจากภาษาละติน “Chorea Machabæorum” ซึ่งแปลตรงๆ ว่า “การเต้นรำมัคคาบีส” 2 มัคคาบีสจากเฉลยธรรมบัญญัติ (Deuteronomy) หนึ่งในหนังสือจากคัมภีร์ไบเบิล ที่บรรยายถึงแม่ผู้พลีชีพกับลูกเจ็ดคน ซึ่งเป็นหัวข้อที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในยุคกลาง และอาจจะเป็นไปได้ว่าการพลีชีพมัคคาบีสฉลองกันในบทละครฝรั่งเศสสมัยต้นที่เป็นบทระหว่างความตายและเหยื่อของความตาย ทั้งบทละครและภาพเขียนที่วิวัฒนาการขึ้นมาใช้เป็นบทสั่งสอนสำหรับผู้คนจำนวนมากในสมัยนั้นที่ไม่มีการศึกษาและอ่านหนังสือไม่ออก
นอกจากนั้น “ระบำมรณะ” ก็ยังพบใน จิตรกรรมฝาผนัง ที่เกี่ยวกับความตายก็เป็นศิลปะที่แพร่หลาย เช่นตำนานเรื่องชายสามคนที่ยังมีชีวิตอยู่พบชายสามคนที่ตายไปแล้ว เรื่องของเรื่องคือชายสามคนขี่ม้าไป ระหว่างทางก็พบโครงกระดูกสามโครงของบรรพบุรุษผู้ที่เตือนว่า “Quod fuimus, estis; quod sumus, vos eritis” (เราเคยเป็น, เจ้าเป็น; เราเป็น, เจ้าจะเป็น) ภาพนี้จากคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมายังคงเหลืออยู่หลายแห่งเช่นที่วัดของโรงพยาบาลที่วิสมาร์
จิตรกรรม “ระบำมรณะ” มักจะเป็นภาพการร่ายรำเป็นวงที่นำด้วย “ความตาย” ผู้ร่วมก็มีตั้งแต่ผู้มียศศักดิ์สูงที่สุดในยุคกลางที่อาจจะเป็นพระสันตะปาปา และพระจักรพรรดิ) ไปจนถึงชนชั้นต่ำทีสุดที่อาจจะเป็นขอทาน, ชาวบ้าน หรือเด็ก มือแต่ละมือของผู้ที่มีชีวิตอยู่ก็ถูกกุมโดยมือกระดูกหรือมือที่เน่าเปื่อย ภาพ “ระบำมรณะ” ที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ลือเบ็คในวัดมาเรียน (ถูกทำลายระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง) แสดงภาพ“ความตาย” ที่ดูเหมือนจะเต้นรำออกมานอกภาพได้ ขณะที่ผู้ร่วมเต้นรำดูเงอะงะและซึมเซื่อง ความแตกต่างของวรรณะถูกทำให้ละลายหายไปเพราะความตาย เช่น “ระบำมรณะ” ของเม็ตซินที่พระสันตะปาปาสวมมงกุฏที่ถูกนำไปสู่นรกโดย “ความตาย”
โดยทั่วไปแล้วเหยื่อแต่ละคนก็จะมีบทพูดสั้นๆ เมื่อ “ความตาย” เรียกตัวและเมื่อผู้ถูกเรียกครวญครางถึงความตายที่จะมาถึง ในหนังสือ “ระบำมรณะ” ที่พิมพ์ครั้งแรก (ไม่ทราบนาม: Vierzeiliger oberdeutscher Totentanz, Heidelberger Blockbuch, ราว ค.ศ. 1460), “ความตาย” กล่าวต่อ พระจักรพรรดิ:
-
-
- Her keyser euch hilft nicht das swert
- Czeptir vnd crone sint hy nicht wert
- Ich habe euch bey der hand genomen
- Ir must an meynen reyen komen
-
-
-
- มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระขรรค์ของพระองค์ก็หาช่วยกันพระองค์ได้ไม่
- ณ ที่แห่งนี้ พระคทาและพระมหามงกุฏหาประโยชน์อันใดมิได้
- อาตมาได้จับพระหัตถ์ของพระองค์ไว้แล้ว
- ด้วยว่าบพิตรจักต้องทรงนาฏกรรมนี้ไปกับอาตมา
-
ในตอนจบ “ความตาย” เรียกชาวนามาเต้นรำ ชาวนาก็ตอบว่า:
-
-
- Ich habe gehabt [vil arbeit gross]
- Der sweis mir du[rch die haut floss]
- Noch wolde ich ger[n dem tod empfliehen]
- Zo habe ich des glu[cks nit hie]
-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น