เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในทุกวันนี้ช่วยเปิดความหวังและพรมแดนใหม่แห่งการรักษาโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง เซลล์ประสาทเสียหาย หรือแม้แต่การสั่งเพาะอวัยวะสำรอง
1. กระดูกไฟฟ้า : กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อเซลล์ประสาทกระดูกสันหลัง เทคโนโลยีชนิดนี้ เริ่มทดลองใช้กับมนุษย์แล้ว พัฒนาโดยบริษัทไซเบอร์คินเนติกส์ ในรัฐแมสซาชูเส็ตต์ สหรัฐ เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ป้องกันป่วยเป็นอัมพาตถาวร วิธีการทำงานของระบบดังกล่าว ทำโดยการผ่าตัดเสียบอุปกรณ์จ่ายกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งใช้แบตเตอรี่เป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน เข้าไปในข้อต่อกระดูกสันหลังตลอด 18 วันแรกนับตั้งแต่ได้รับบาดเจ็บ และปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นให้เส้นประสาทกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้ง ผลการทดลองในสุนัขและอาสาสมัคร พบว่า ช่วยให้กลับมาเคลื่อนไหวร่างกายได้ในระดับหนึ่ง 2. อวัยวะตามใบสั่ง : ไม่ต้องต่อคิวรอบริจาคอวัยวะอีกต่อไป เพราะคนไข้เพาะและสั่งผลิตอวัยวะจากเซลล์ของตัวเองได้ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากทดลองอยู่ 6 ปีเต็ม แอนโทนี่ อตาลา นักวิศวกรรมพันธุกรรมศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยเวกฟอเรสต์ ประกาศความสำเร็จในการนำเซลล์จากคนไข้โรคกระเพาะปัสสาวะ มาเพาะเลี้ยงจนทำให้เซลล์เติบโตกลายเป็นเซลล์ที่นำไปเย็บเข้ากับกระเพาะปัสสาวะของคนไข้โดยไม่ถูกร่างกายต่อต้าน อีก 1 เดือนถัดมา อตาลานำเอาอวัยวะเพศที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาในจานทดลอง ไปผ่าตัดต่อให้กับกระต่ายและอวัยวะดังกล่าวทำงานได้ตามปกติ และจะพัฒนาต่อไปเพื่อทดลองกับมนุษย์ ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ทีมงานจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไต อวัยวะที่มีระบบการทำงานซับซ้อนได้สำเร็จ ซึ่งทุกวันนี้เพาะเนื้อเยื่อไตบางส่วนที่ทำงานร่วมกับระบบขับถ่ายปัสสาวะได้แล้ว 3. วัคซีนครอบจักรวาล : สู้ไวรัสไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์พบเป้าหมายใหม่ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสหวัดนก นั่นคือ ผลิตวัคซีนต่อกรกับโปรตีน "เอ็ม 2" ที่พบเกาะตัวอยู่บนผิวด้านนอกของไวรัสหวัดนกแทบทุกสายพันธุ์และมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ วอลเตอร์ แกรฮาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบภูมิคุ้มกัน สถาบันวิสตาร์ สหรัฐ ระบุว่า การผลิตวัคซีนขึ้นมาจัดการกับ "เอ็ม 2" ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยหยุดการแพร่ระบาดของโรค แต่ทำให้เรามีเครื่องมือช่วยหยุดยั้งไม่ให้เชื้อออกฤทธิ์รุงแรงเกินไปจนผู้ป่วยไข้ขึ้นสูงและเกิดอาการขาดน้ำ โดยการทดลองวัคซีนเอ็ม 2 อาจเริ่มขึ้นในปีหน้า 4. ปิดสวิตช์ต้นตอโรคอ้วน : วิธีปิดการทำงานของยีน หรือหน่วยพันธุกรรมที่ทำให้คนเราอ้วน จะดีแค่ไหนถ้าการฉีดยาธรรมดาๆ ช่วยหยุดการทำงานของเจ้ายีนตัวร้ายที่มีส่วนทำให้คนเป็นโรคอ้วน ทั้งยังบังคับให้เซลล์เผาผลาญไขมันและตอบสนองกับระดับการเปลี่ยนแปลงของ "อินซูลิน" ได้ดีและเหมาะสมมากขึ้น แนวคิดข้างต้น คือ วิธีแทรกแซงสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอ (RNAi) ที่ไมเคิล เชก นักชีวเคมี มหาวิทยาลัยแมสซาชูเส็ตต์ พยายามต่อยอดความคิดจากนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่และจะทำให้สำเร็จภายในปี 2553 ตามปกติกระบวนการ RNAi เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น เวลามีไวรัสบุกเข้าโจมตีเซลล์ในร่างกาย ไวรัสจะส่งผ่านรหัสพันธุกรรมผ่านคู่อาร์เอ็นเอ แต่ร่างกายก็ต่อสู้กับไวรัสที่พยายามแพร่กระจายได้ ซึ่งเชกลอกเลียนวิธีเดียวกันนี้มาใช้ปิดการทำงานของยีน จนทำให้เซลล์เผาผลาญกรดไขมันส่วนเกินทิ้งไปภายหลังจากฉีดอาร์เอ็นเอชนิดพิเศษเข้าสู่ร่างกาย
5. "นาโน"ฟื้นฟูเส้นประสาท : เครื่องมือถักทอเซลล์ประสาทที่เสียหายให้กลับมาคืนชีพอีกครั้ง
นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธีเชื่อมต่อ "กรดอะมิโน" ที่มีคุณสมบัติต่างๆ กันถักร้อยเข้าด้วยกันเป็นสายยาวในขนาดเล็กระดับนาโน ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงเล็กกว่าเซลล์เม็ดเลือดแดง 1,000 เท่า ต่อมาฉีดเข้าไปในจุดที่เส้นประสาทได้รับบาดเจ็บหรือเสียหาย กรดเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นสะพานยึดโยงให้เซลล์ประสาทส่วนที่ยังดีอยู่กลับมาเชื่อมต่อกันได้อีกครั้ง รัตเลดจ์ เอลลิสส-เบห์นเค จากสถาบันเอ็มไอที นำเทคนิคนี้ไปทดลองในหนูซึ่งประสาทตาเสีย พบว่าช่วยฟื้นฟูการมองเห็นของมันกลับคืนมา 75 เปอร์เซ็นต์ ในอนาคตเทคนิคนี้จะมีประโยชน์ในการซ่อมแซมประสาทบริเวณกระดูกสันหลังและสมอง
6. เพชรฆาตมะเร็ง : ผลิตลูกระเบิดคาร์บอนขนาดจิ๋วเพื่อส่งเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องพบกับผลกระทบจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
จุดอ่อนของการใช้เคมีบำบัด หรือ รังสีรักษาผู้ป่วยมะเร็ง คือ ตัวยาและรังสีจะเข้าไปทำลายทั้ง "เซลล์ดี" และ "เซลล์มะเร็ง" ส่งผลให้สุขภาพผู้ป่วยทรุดโทรม ล่าสุดโรเบิร์ต แลงเกอร์ สถาบันเอ็มไอที, โอมิด ฟาร็อกซาด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กำลังคิดค้นเทคนิคสร้าง "ลูกบอลคาร์บอนโพลิเมอร์" ขนาดเล็กในระดับ "นาโน" หรือ เล็กกว่าหัวเข็มหมุด 1,000 เท่า จากนั้นบรรจุตัวยาฆ่าเชื้อมะเร็งเข้าไปด้านในและส่งลูกบอลดังกล่าวเข้าไปในร่างกาย โดยมันสามารถแยกแยะเนื้อเยื่อที่ดีกับเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งได้จากการตรวจจับ "โปรตีน" ชนิดหนึ่งที่เซลล์มะเร็งผลิตออกมา คาดว่าการทดลองจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2557 |
วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555
การแพทย์แห่งอนาคต 6 แนวทางรักษาโรคยุคใหม่
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น