วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โรคนิ้วล็อก (TRIGGER FINGER) เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม


                                                          
สาเหตุ เกิดจากการใช้งานของเส้นเอ็นด้านงอนิ้วมือมาก ทำให้เส้นเอ็นเสียดสีกับรอกที่หุ้มเส้นเอ็นจนเกิดการอักเสบของตัวรอก
อาการ เริ่มแรกจะตึงนิ้วมือ ปวดและบวมบริเวณมือ กำนิ้วมือไม่สะดวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังจากตื่นนอน ถ้าอาการเป็นนานขึ้นจนรอกแข็งตัว จะเกิดการสะดุดหรือล็อคของนิ้วมือเวลากำและเหยียดนิ้วมือ
ใครมีโอกาสเป็นโรคนิ้วล็อก 
       ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เกิดในผู้หญิงกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่บ้านที่ใช้มือ ทำงานหนัก เช่น หิ้วถุงพลาสติกหนัก ๆ หิ้วตะกร้า จ่ายกับข้าว ช็อปปิ้ง หิ้วถังน้ำ บิดผ้า เป็นต้น 
       ในผู้ชายมักจะพบในอาชีพที่ต้องใช้มือทำงานหนัก ๆ ซ้ำ ๆ เช่น คนทำสวนใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ใช้จอบเสียม มีดฟันต้นไม้ ช่างใช้ไขควง สว่าน หิ้วยกของหนักเป็นประจำ เช่น คนขายแก๊ส คนส่งน้ำ หรือกระบะผลไม้ และมักพบบ่อยในคนที่ตีกอล์ฟรุนแรง 
การปฏิบัติตัว
1.  ลดการใช้งานของเส้นเอ็นด้านงอนิ้วมือ โดยการหลีกเลี่ยงการกำมือหรือกำของต่างๆ
2. ดัดนิ้วมือที่มีปัญหาและนิ้วใกล้เคียงให้แอ่นไปด้านหลังมือเป็นระยะ เพื่อให้เอ็นด้านงอยืดตัวดีขึ้น
3. ไม่ควรออกกำลังนิ้วมือ หรือบริหารนิ้วมือโดยการกำและแบ เพราะจะทำให้เอ็นงอนิ้วมือเสียดสีกับรอกมากขึ้น
4. ถ้าปวดนิ้วมือหลังตื่นนอน ควรใช้มือด้านตรงข้ามดัดนิ้วที่ปวดให้แอ่นเป็นระยะ (เหมือนข้อ 2)
ข้อควรระวังในการป้องกัน
• ไม่หิ้วของหนัก ถ้าจำเป็นต้องใช้ผ้าขนหนูรอง และหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ แทนที่จะให้น้ำหนักตกที่ข้อนิ้วมือ หรือใช้วิธีการอุ้มประคอง ลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ
• ไม่ควรบิด ซักผ้า ด้วยมือเปล่า จำนวนมาก ๆ และซ้ำบ่อย ๆ ควรซักด้วยเครื่องซักผ้า และไม่ควรบิดผ้าให้แห้งสนิท เพราะจะยึดปลอกหุ้มเอ็นจนคราก และเป็นจุดเริ่มของโรคนิ้วล็อค
• นักกอล์ฟที่ต้องตีแรง ตีไกลควรใส่ถุงมือ หรือใช้ผ้าสักหลาดหุ้มด้ามจับให้หนา และนุ่มขึ้นเพื่อลดแรงปะทะ ไม่ควร drive กอล์ฟเป็นเวลาต่อเนื่องนานๆ
•  การใช้ เครื่องมือทุนแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ ควรใส่ถุงมือ หรือห่อหุ้มด้ามจับให้ใหญ่ และนุ่ม
• ชาวสวน ควรใส่ถุงมือเพื่อลดการบดของปลอกเอ็นกับเส้นเอ็น ห้ามใช้มือเปล่าหิ้วถังน้ำหนัก ๆ เป็นประจำ ควรต่อสายยาง แทนการหิ้วถังน้ำ
• คนที่ยกของหนัก ๆ เป็นประจำ เช่น คนส่งน้ำขวด ถังแก๊ส แม่ครัวพ่อครัว ควรหลีกเลี่ยงการยกมือเปล่า ควรมีผ้ารองจับขณะยก และใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็น รถลากแทน
• หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ หยิบ บีบ เครื่องมือ เป็นเวลานานๆ  ควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่นใช้ผ้าห่อที่จับ ให้ใหญ่และนุ่ม  เช่น  ใช้ผ้าห่อด้ามจับตะหลิว ในอาชีพแม่ครัว
• งานบางอย่างต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยล้า หรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆเช่น ทำ 45 นาที ควรจะพักมือไปทำภารกิจอื่นสัก 10 นาทีเป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น