วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

ตำนานวันสงกรานต์ วันปีใหม่ของชาวไทย



วันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ทำบุญวันขึ้นปีใหม่ไทย ๒๕๕๖ 
สงกรานต์เชียงใหม่ หรือ คนเหนือมักจะเรียกว่า “ปี๋ใหม่เมือง” เป็นประเพณีสำคัญคนล้านนา เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ จะถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ มักจะตรงกับวันที่ 13 หรือ 14 เมษายน
วันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย


วัน ที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง
เริ่มจากตอนเช้ามีการ ยิงปืนขับไล่เสนียดจัญไร ให้ล่วงลับไปกับสังขานต์ และในแต่ละบ้านมีการทำความสะอาด ตลอดจนตามถนนและตรอกซอยเข้าบ้าน จากนั้นก็ทำความสะอาดชำระล้างร่างกาย สระเกล้าดำหัวให้สะอาดมีจิตใจผ่องใส หลังจากนั้นไปเที่ยวตามหมู่บ้านหรือในปัจจุบันนิยมไปเที่ยวตามสถานที่ท่อง เที่ยวต่างๆ เรียกว่า “ไปแอ่วปีใหม่” วันนี้มีการเล่นรดน้ำกันแล้ว

วันที่ 14 เมษายน วันเนา หรือวันเน่า
วัน “ขนทราย” หรือ วันเนาว์ วันปู๋ติ วันนี้จะทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นมงคล ไม่ด่่าทอหรือทะเลาะวิวาท ตอนเช้าไปจ่ายของและอาหาร เตรียมทำบุญถวายพระ ในวันรุ่งขึ้น วันเตรียมอาหารและเครื่องไทยทานเรียกว่า“วันดา” (คำวันสุกดิบทางภาคอื่น) และทุกบ้านจะทำกับข้าวที่สามารถเก็บไว้ได้หลายวัน เช่น แกงเส้นร้อน แกงอ่อม ฯลฯ หรือไม่ก็จำพวกห่อนึ่ง เช่น ห่อนึ่งไก่ ห่อนึ่งปลา ฯลฯ พร้อมทั้งตระเตรียมอาหารหวาน และเครื่องไทยทานไว้ให้พร้อม

ตอนบ่าย มีการขนทรายจากแม่น้ำ นำไปไว้ที่วัดใกล้บ้าน โดยก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด เจดีย์ทรายจะถูกประดับตกแต่งด้วยตุง (ธง) ทำด้วยกระดาษสีตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม และรูปอื่นๆ ชายธงมีการทานช่อ (ทำด้วยกระดาษสีต่างๆ) ตัดเป็นลวดลายติดปลายไม้สำหรับปักที่กองเจดีย์ทรายการทานธงและทานช่อนี้ ด้วยถือคติว่า ผู้บริจาคทานเมื่อตายไปแล้วจะได้อาศัยชายธง หอบหิ้วให้พ้นจากนรกได้ อานิสงส์การทานตุงหรือช่อนี้มีอยู่ในพระธรรมเทศนาใบลานตามวัดทั่วไป เจดีย์ทรายนี้จะทำพิธีถวายทานในวันรุ่งขึ้น มีการปล่อยนกปล่อยปลาอีกด้วย ในวันเดียวกันนี้มีการเล่นน้ำกันอย่างหนัก และเป็นที่สนุกสนานโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว

ทุกๆ ปี เมื่อถึงเทศกาลตรุษสงกรานต์ ชาวเหนือมีประเพณีอย่างหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติ คือ “สุมาคารวะ” ลูกหลานจะมาขอขมาลาโทษในความผิดต่างๆ ที่เคยกระทำมาต่อญาติผู้ใหญ่ ถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อย อันมีต่อผู้ใหญ่ เรียกกันว่า “การไปดำหัว” หรือประเพณีดำหัว การไปดำหัวของคนไทยภาคเหนือ มักจะเริ่มกันใน “วันพญาวัน” (คือวันเถลิงศก)

วันที่ 15 เมษายน วันพญาวัน หรือวันเถลิงศก
ตอนเช้า จัดเตรียมอาหารคาวหวานใส่สำรับไปถวายพระที่วัด และทำบุญตักบาตรและนำไปให้ผู้เฒ่า ผู้แก่ ครูอาจารย์ หรือบุคคลที่ตนเคารพนับถือ เรียกว่าไปทานขันข้าว (ตานขันข้าว) การทานขันข้าวนี้ นอกจากจะทานให้พระ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือดังกล่าวแล้วก็มีการถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศล ถึงญาติพี่น้อง บิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว โดยพระที่วัดจะแยกย้ายกันนั่งประจำที่บริเวณวัดเพื่อให้ศีลให้พร แก่ผู้ไปทานขันข้าว

เสร็จจากการทำบุญตักบาตร ก็มีการถวายทานเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยปลา มีการสรงน้ำพระพุทธเจดีย์ มีการค้ำต้นโพธิ์ภายในวัดและหมู่บ้าน มีการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เช่น เชียงใหม่ก็จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป เสตังคมณี (พระแก้วขาว) วัดเชียงมั่น พระเจ้าทองทิพย์ และ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ พระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง ส่วนตามจังหวัดต่างๆ ก็จะมีการไปสักการะบูชาพระพุทธรูปสำคัญประจำ บ้านเมืองตนเช่นเดียวกัน เช่น ลำปาง ก็ไปสรงน้ำพระแก้วมรกตที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เมืองน่านที่วัดพระธาตุแช่แห้ง และที่แพร่ก็ไปสรงน้ำ ที่พระธาตุช่อแฮเป็นต้น

ตอนบ่าย ก็จะเริ่มการดำหัว และจะทำเรื่อยไปจนถึงวันรุ่งขึ้น หรือวันปากปี
วันที่สี่ เป็นวันปากปี มีการดำหัวตามวัดต่างๆ ที่ใกล้เคียงและห่างไกล ซึ่งมีพระในวัดและในหมู่บ้านนั้นนำไป การไปดำหัวตามวัดนี้มักจะแบ่งแยกกันเป็นสายๆ เพราะบางวัดที่อยู่ห่างไกลก็ไม่ได้ไปกันอย่างทั่วถึงนอกจากวัดที่คนนิยมไป กันอย่างสม่ำเสมอ เรียกตามภาษาเมืองว่า “ไปเติงกั๋น” หรือไปวัดของเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด หรือพระเถระผู้ใหญ่


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก www.songkran.net
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : 
http://www.mcot9725.com/news/ent_view.php?id=20472
http://variety.horoworld.com/4203_%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น