วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

'เจ้าชายวิลเลม'พระราชาแห่งดัชต์รอบ123ปี


'เจ้าชายวิลเลม'พระราชาแห่งดัชต์รอบ123ปี

KING'วิลเลม อเล็กซานเดอร์' พระราชารอบ123ปีแห่งราชวงศ์ดัชต์ : ธานี กุลแพทย์รายงาน


              การเปิดทำเนียบเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ พบปะสื่อมวลชนไทยทุกแขนง โดย ฯพณฯ มร.โยอัน บัว เอกอัครราชฑูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย นอกจากร่วมจิบน้ำชายามบ่ายในสไตล์ดัชต์ กับท่านทูตเนเธอร์แลนด์ (A Delightful Dutch Afternoon with the Netherlands Ambassador) แล้ว ยังร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษ พระราชพิธีสืบราชสันตติวงศ์ พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พ.ศ.2556 แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ในสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ที่จะทรงสละราชสมบัติให้แก่ เจ้าชายวิลเลม อเล็กซานเดอร์ พระราชโอรส ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 2556 ณ พระราชวังกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

              ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ และได้มีโอกาสร่วมเฉลิมฉลองกับชาวดัชต์ทั่วโลกในพระราชพิธีดังกล่าว พร้อมกันนี้สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดงานเลี้ยงรับรองขึ้น ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ ในวันที่ 30 เมษายน 2556 เวลา 17.30-21.00 น.

              โดยภายในงานท่านทูตบอกว่า จะมีการตกแต่งทำเนียบเอกอัครราชทูตด้วยผ้าคลุมในพระราชพิธีขนาดใหญ่ จัดในแบบเทพนิยาย พร้อมการบรรเลงดนตรีโดยศิษย์เก่าเนเธอร์แลนด์ ขณะที่บรรยากาศของงานได้จำลองให้มีความใกล้เคียงกับโบสถ์ใหม่ของเมืองอัมสเตอร์ ดัม (De Nieuwe Kerk in Amsterdam) สถานที่จัดงานราชพิธีสืบราชสันตติวงศ์ โดยสถานทูตฯได้เชิญทูตานุ ทูต จากประเทศต่างๆ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทย นักธุรกิจ บุคคลคนสำคัญจากหลากหลายวงการ และทุกภาคส่วน รวมทั้งชาวดัตช์ในเมืองไทยร่วมเฉลิมฉลอง

คิงพระองค์แรกในรอบ123ปี

              นับเป็นเวลา 123 ปี ที่องค์พระประมุขของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เป็นสตรีเพศในฐานะสมเด็จพระราชินี และในไม่ช้านี้ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ก็จะมีประมุขของรัฐที่เป็นบุรุษเพศในฐานะพระมหากษัตริย์ การคืนสู่บัลลังค์ของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งราชอาณาจักรในครั้งนี้ เกิดขึ้นตรงกับปีที่ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ได้มีการสถาปนาครบ 200 ปีในปีนี้

              โดยในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาเมื่อ 33 ปีก่อน สมเด็จพระราชินีนาถยูเลียน่า ในฐานะพระราชชนนีทรงสละราชสมบัติให้แก่พระราชธิดา และในวันที่ 30 เมษายน 2556 นี้ สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ จะทรงครองราชย์ครบ 33 ปี และพระองค์จะทรงสละราชสมบัติให้แก่เจ้าชายวิลเลม อเล็กซานเดอร์ พระราชโอรสพระองค์แรกในฐานะมกุฎราชกุมาร

              วันที่ 30 เมษายน เป็นวันสำคัญสำหรับชาวดัตช์มาตั้งแต่ ค.ศ.1948 เมื่อสมเด็จพระราชชนนียูเลียน่า ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ในฐานะองค์พระประมุขของเนเธอร์แลนด์ เนื่องจาก 30 เมษายน เป็นวันพระราชสมภพของพระองค์ และได้กลายมาเป็น “วันพระราชินี” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาประชาชนชาวดัตช์ก็พากันเฉลิมฉลองให้แก่สมเด็จพระราชินีของพวกเขา

              ทว่า ในวันที่ 30 เมษายน 2556 ที่กำลังจะถึงนี้ วันพระราชินี กำลังจะเปลี่ยนเป็น “วันพระมหากษัตริย์” เมื่อว่าที่พระมหากษัตริย์ วิลเลม อเล็กซานเดอร์ และว่าที่พระราชินีแม็กซิม่าจะขึ้นครองราชย์ ทั้งนี้ เป็นน่าสังเกตว่าพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐจะมีเพียงในสมัยของพระองค์เท่านั้น ก่อนที่ประมุขแห่งรัฐจะกลับมาเป็นสตรีเพศอีกครั้ง เนื่องจากเจ้าชายวิลเลมทรงมีพระราชธิดา 3 พระองค์

              ทั้งนี้ นับแต่สมเด็จพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1 ได้สถาปนาราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ขึ้นในปี ค.ศ.1813 หรือ พ.ศ.2356 นับเป็นเวลาต่อเนื่อง 123 ปี ที่อาณาจักรแห่งนี้มีสมเด็จพระราชินีนาถในฐานะองค์พระประมุข

              การเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1893 หรือ พ.ศ.2526 เมื่อมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเสด็จขึ้นครองราชย์ ว่าองค์รัชทายาทลำดับที่หนึ่ง หรือพระองค์โต ไม่ว่าจะเป็นพระราชธิดาหรือพระราชโอรส คือผู้สืบราชสันตติวงศ์ ก่อนหน้านั้นมีเพียงพระราชโอรสพระองค์แรกที่มีสิทธิ์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นประมุขของรัฐ แม้ว่าอาจทรงมีพระพี่นาง แต่พระพี่นางก็ไม่ได้รับสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์

ภาพจำของสมเด็จพระราชินี

              ด้วยพระชนม์มายุ 75 พรรษา สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ จึงเป็นองค์พระประมุขที่มีพระชนม์มายุยืนยาวที่สุดขณะยังทรงครองราชย์ เมื่อใกล้ถึงวันจะทรงสละราชสมบัติ จึงเกิดกิจกรรมเฉลิมฉลองและถวายพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน ด้วยเชิญชวนชาวดัตช์ทั่วประเทศให้วาดรูปเหมือนจริงของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์

              ชาวดัตซ์ต่างกระตือรือร้นร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ด้วยส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 3 หมื่นชิ้น ทว่า ได้คัดเลือก 75 ชิ้น นำไปจัดแสดงในนิทรรศการ “ภาพจำของสมเด็จพระราชินีเบียทริกซ์” ณ พระราชวัง เฮท ลู (Palace Het Loo) โดยสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ทรงเสด็จไปเปิดนิทรรศการด้วยพระองค์เอง

              อีกทั้ง จัดทำเหรียญยูโรรุ่นพิเศษ มูลค่า 2 ยูโร มีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระพักตร์ด้านข้างของว่าที่กษัตริย์เคียงคู่พระราชชนนี นับเป็นเหรียญยูโรรุ่นแรกที่ประกอบด้วยภาพสองพระองค์บนเหรียญเดียวที่จะใช้ในเขตเงินสกุลยูโร เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ทรงขึ้นครองราชย์นั้น เนเธอร์แลนด์ยังใช้สกุล “กิลเดอร์” (Royal Guilder) จนถึง พ.ศ.2545 (ค.ศ.2002) จึงเปลี่ยนใช้เงินสกุลยูโร (Euro) พร้อมได้มีการจัดทำตราไปรษณีย์อากรที่ระลึก หรือแสตมป์รุ่นพิเศษเนื่องในวโรกาสพิเศษนี้

              ที่สมควรบันทึกไว้ในส่วนที่เชื่อมโยงถึงประเทศไทยก็คือ บริษัทฟาเบอร์แฟรกจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่เข้ามาลงทุนและมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ได้ออกแบบธงเป็นกรณีพิเศษเป็นลายเส้นพระบรมสาทิสลักษณ์ของว่าที่กษัตริย์และพระราชชนนี บนพื้นสีธงชาติของเนเธอร์แลนด์ โดยธงรุ่นพิเศษดังกล่าวได้ส่งมอบแก่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ทั่วโลก เพื่อประดับตกแต่งเนื่องในวโรกาสพิเศษนี้

              อีกกิจกรรมที่น่าสนใจคือได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อริเริ่มและเชิญชวนให้ชาวดัตช์ทั่วประเทศส่งข้อความสั้นๆภายใต้หัวข้อ “ความฝันของข้าพเจ้าสำหรับประเทศของเรา แรงบันดาลใจสำหรับพระมหากษัตริย์ของปวงชน” (My dream for our country, Inspiration for our King) ข้อความสั้นทั้งหมดจะถูกรวบรวมเพื่อนำไปใช้ประพันธ์เป็นบทเพลงพิเศษโดยศิลปินนักร้องชาวเนเธอร์แลนด์ถวายแด่ว่าที่พระกษัตริย์พระองค์ใหม่เป็นการเฉพาะ

สัมพันธไมตรีสองราชอาณาจักร

              พ.ศ.2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนเนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนางเจ้ายูเลียน่า และเจ้าชายเบอร์นฮาร์ด ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จพระนางเจ้ายูเลียน่า และเจ้าชายเบอร์นฮาร์ดได้เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

              พ.ศ.2547 สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์และเจ้าชายวิลเลม อเล็กซานเดอร์ มกุฏราชกุมาร ได้เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสฉลอง 400 ปีความสัมพันธ์ไทยเนเธอร์แลนด์ โดยสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์จัดสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวได้เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าชมแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา

              พ.ศ.2549 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติครบ 60 ปี เจ้าชายวิลเลม อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์พร้อมด้วยพระชายา เจ้าหญิงแม็กซิม่า ได้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีดังกล่าว

              และในวันที่ 30 เมษายน 2556 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพร้อม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมในงานพระราชพิธีสืบราชสันตติวงศ์ พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พ.ศ.2556 แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ณ พระราชวังกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วย

ความสัมพันธ์เชิงธุรกิจสองชาติ

              ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์กว่า 400 ปีที่ผ่านมา มีจุดเริ่มต้นจากการค้าและธุรกิจ จวบจนถึงปัจจุบันการดำเนินธุรกิจของทั้งสองประเทศยังคงเฟื่องฟูต่อเนื่อง ในอดีตบริษัทอีสต์อินเดียแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ได้ดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

              ปัจจุบันสถานทูตเนเธอร์แลนด์ได้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่บริษัทเนเธอร์แลนด์ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการอุตสาหกรรมเกษตร อาหารและน้ำ ขณะเดียวกันได้มีการประมาณการว่ามีชาวดัตช์เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยราว 1.5 หมื่นคน และมีนักท่องเที่ยวชาวดัตช์เข้ามาท่องเที่ยวยังเมืองไทยปีละกว่า 2 แสนคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในทุกปี

              อีกทั้ง มีจำนวนกว่า 300 บริษัท ที่เป็นสมาชิกของหอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทย ในการมีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมการค้าและธุรกิจของทั้งสองประเทศ ผู้ประกอบการด้านธุรกิจจำนวนมากใช้ประเทศไทยเป็นสำนักงานระดับภูมิภาค ย่อมแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความสำคัญและน่าสนใจในการร่วมดำเนินธุรกิจ

              บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สัญชาติดัตช์ที่ประกอบธุรกิจในเมืองไทย และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น ไฮเนเก้น เชลล์ ฟิลลิปส์ บีควิกส์ แอร์ฟรานส์เคแอลเอ็ม เป็นต้น และที่กำลังจะเปิดดำเนินกิจการที่เชียงใหม่ คือศูนย์การค้าโพรเมนาดา ในทางกลับกันมีบริษัทของไทยที่ไปลงทุนในเนเธอร์แลนด์ เพื่อใช้เป็นทางเชื่อมสู่ตลาดสหภาพยุโรป เช่น บริษัท พีทีที เคมิเคิล เป็นต้น

"ดัตช์"บนบริบทความหลากหลาย

              หากมีโอกาสเดินทางไปเนเธอร์แลนด์ แน่นอนว่าต้องแวะเยี่ยมชมกรุงอัมสเตอร์ดัมในฐานะเมืองหลวงที่มากด้วยสถานที่ท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์อันสวยงามวิจิตร แวะชมชิ้นงานระดับตำนานของโลกสร้างสรรค์โดยศิลปินชาวดัตข์นามอุโฆษ เช่น วานโกะห์ เรมบรันด์ท เวอร์เมียร์ มอนเดรอาน ที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์เรกส์ (Rijksmuseum) ซึ่งเพิ่งเปิดให้เข้าชมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา หลังปิดปรับปรุงเป็นเวลานานกว่า 10 ปี

              อีกทั้ง พิพิธภัณฑ์ไฮเนเกน จะได้ดื่มด่ำกับประสบการณ์แห่งตำนานเบียร์ระดับโลก อีกทั้ง สวนดอกไม้เคอเคนฮอฟ (Keukenhof) ที่รวบรวมและจัดแสดงพันธุ์ไม้หัวหลากหลายสายพันธุ์ ที่ทั้งสีสัน กลิ่น และรูปร่างหน้าตาของบรรดาพันธุ์ไม้หัวช่างสวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ขณะเดียวกันไม่ควรพลาดชมอูเทรคท์ (Utrecht) เมืองที่เต็มไปด้วยโบสถ์อันวิจิตร และต้นไม้ใหญ่ เมืองรอตเตอร์ดัม (Rotterdam) ที่ตั้งของท่าเรือใหญ่ติดอันดับโลก ถ้าชื่นชอบข่าวและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับราชวงศ์ ปราสาทพระราชวัง ไม่ควรพลาดพระราชวัง Paleis Soestdijk อันเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชชนนี

              อย่าลืมแวะกรุงเฮก เมืองอันเป็นที่ตั้งของศาลโลก หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และศาลอาชญากรระหว่างประเทศ เป็นเมืองที่สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์องค์พระประมุขของประเทศทรงประทับอยู่ และอีกหลายๆเมืองที่ควรค่าแก่การไปเยี่ยมชม อาทิ เมืองมาสทริกส์ (Maastrict) เมืองเล็กๆทางตอนใต้ที่มีชื่อเสียงในเรื่องศาสตร์การทำอาหาร และอยู่ใกล้กับภูเขา "วาวเซอร์เบอรค์” (Vaalserberg) ของเนเธอร์แลนด์ บนยอดภูเขานี้คือบริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” หรือที่เรียก “จุดบรรจบของสามแผ่นดิน” อันเป็นตำแหน่งที่อาณาเขตของสามประเทศมาบรรจบกัน ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และเยอรมัน
 
"ดัตช์"แนวป้องกันน้ำท่วมของโลก

              กว่าร้อยละ 60 ของประเทศนี้คือแผ่นดินที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เพราะเมื่อคุณก้าวเท้าลงยืน ณ สนามบินนานาชาติสกิโพล (Schiphol) คุณกำลังยืนอยู่ ณ จุดที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 4 เมตร ทว่า หากปราศจากระบบและปราการป้องกันน้ำท่วมอันเยี่ยมยอดแล้ว พื้นที่หนึ่งในสามของประเทศนี้ต้องจมอยู่ใต้น้ำหรือถูกน้ำท่วมนั้นเอง ทั้งนี้ จากจำนวนประชากรชาวดัตช์ 16 ล้านคน กว่า 11 ล้านคนอาศัยอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

              จากความคุ้นเคยกับการอาศัยอยู่กับน้ำ ชาวดัตช์จึงไม่เคยแม้แต่จะกังวลถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ พร้อมได้บูรณาการเรื่องของน้ำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต จนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมและเทคนิคการออกแบบจนเกิดเป็นภูมิสถาปัตย์ในรูปแบบที่น่าสนใจและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

              อย่าง “เคเทอะฮอร์น” (Giethoorn) หรือ “เวนิสแห่งฮอลแลนด์” สถานที่ซึ่งมองไปหนทางใดก็มีแต่น้ำ อีกทั้ง ถนนเป็นเสมือนสะพาน แวะชมอภิโครงการ “เดลต้า” ณ เคอริงเฮาส์ (Keringhuis) ซึ่งประกอบไปด้วย 14 โครงการ ของปราการกั้นน้ำ คันกั้นน้ำ และประตูน้ำ สถานที่ซึ่งป้องกันผืนแผ่นดินให้พ้นจากน้ำ อีกทั้ง เนลเจอร์ ยาน (Neeltje Jans) สามเหลี่ยมสวนน้ำ สถานที่มุ่งเน้นยังงานในโครงการเดลต้า ทะเล และแนวชายฝั่ง

              สำหรับชาวดัตช์ สเก๊ตน้ำแข็งไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประเพณี แต่มันคือกีฬาและเป็นความสนุกสนานในอีกรูปแบบหนึ่ง มันคือวิถีแห่งชีวิต มันคือสิ่งที่ชาวดัตช์ใช้ประโยชน์จากน้ำในทุกรูปแบบ และถ้าคุณโชคดีจริงๆ คุณอาจได้ท่องเที่ยวเมืองทั้งสิบเอ็ด (Eleven City Tour) เป็นการเดินทางท่องเที่ยวโดยใช้สเก๊ตน้ำแข็ง ระยะทาง 200 กิโลเมตรภายในหนึ่งวัน โดยเมืองทั้ง 11 เมืองล้วนเชื่อมโยงถึงกันโดยทางน้ำทั้งสิ้น
.............
(หมายเหตุ : KING'วิลเล็ม อเล็กซานเดอร์' พระราชารอบ123ปีแห่งราชวงศ์ดัชต์  : ธานี กุลแพทย์รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น