วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คุณรู้จัก “ตูวาลู” หรือไม่…มันกำลังจะหายไปจากแผนที่โลก


tuvalu  
ตูวาลู (Tuvalu) เป็นประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก
ถ้าเล็งจากแผนที่โลกจะเห็นว่า…
มันอยู่กึ่งกลางระหว่างประเทศออสเตรเลียกับมลรัฐฮาวาย
ถ้าใช้ google earth ซูมเข้ามามองมุมสูงแบบใกล้ๆ จะเห็นว่า…
เกาะทั้ง ๘ เกาะของตูวาลูมีลักษณะเป็นวงแหวนหรือคล้ายพระจันทร์เสี้ยว
ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกเกาะก่อเกิดขึ้นมาจากหินปะการัง หรือ Coral Atoll
ลักษณะเด่นของเกาะที่เกิดจากหินปะการัง คือ
เป็นเกาะแคบโค้งขนาดเล็กโผล่พ้นน้ำทะเลเพียงเล็กน้อย
ประเทศตูวาลูจึงมีพื้นที่เพียง ๒๖ ตารางกิโลเมตร
และจุดสูงที่สุดอยู่เหนือระดับน้ำทะเลแค่ ๔.๕ เมตรเท่านั้น !!!
ปัจจัยทางกายภาพดังกล่าวส่งผลให้ที่นี่ติดอันดับต้นๆ ของดินแดนที่มีระดับต่ำที่สุดในโลก
และสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการจมทะเลในยุคสมัยที่ผู้ร้ายชื่อ “โลกร้อน” กำลังแผลงฤทธิ์
ย้อนกลับไปเมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๐
อดีตนายกรัฐมนตรีของตูวาลู Bikenibeu Paeniu ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์
ในการประชุมร่างอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจัดขึ้นที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
เขาถ่ายทอดประสบการณ์เลวร้ายของชาวตูวาลู
ในการเผชิญหน้ากับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ลมกรรโชก พายุไซโคลนรุนแรง
อุทกภัย และการกัดเซาะชายฝั่งให้นานาประเทศรับรู้
Paeniu อธิบายว่า ประชาชนกว่า ๑๒,๐๐๐ คนของเขาได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนในระดับรุนแรงจนไม่สามารถจะทนทานได้อีกต่อไปแล้ว
พื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนเสียหายเกือบทั้งหมด
สุขภาพและความเป็นอยู่ของชาวตูวาลูจึงพลอยย่ำแย่ลงไปด้วย
เมื่อบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องโลกร้อนคาดการณ์ว่า…
ประเทศตูวาลูจะโดนน้ำทะเลกลืนหายไปในอีก ๕๐ ปีข้างหน้า
ผู้นำตูวาลูไม่อาจนอนใจได้ว่า คนทั่วโลกจะสามารถช่วยกันหยุดยั้งการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกได้ทันเวลา
จึงร้องขอความอนุเคราะห์ไปยังประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๓
ให้ช่วยรับชาวตูวาลูเข้าประเทศ หากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจนเข้าขั้นวิกฤต
ในขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียปิดประตูใส่หน้าชาวเกาะกลางทะเลด้วยการปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ
รัฐบาลนิวซีแลนด์กลับยินดีต้อนรับชาวตูวาลูด้วยการจัดตั้งโครงการผู้อพยพขึ้น ภายใต้ชื่อ “Pacific Access Category” ในปี ๔๔
ทั้งนี้ รายงานภัยพิบัติโลกประจำปี ๔๔ ของสภากาชาดสากล ระบุว่า
ภัยพิบัติทางธรรมชาติเบียดแซงภัยจากการสงครามขึ้นมาเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้คนต้องตัดสินใจทิ้งบ้าน
เพื่อย้ายไปอยู่ในบริเวณที่ยังไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กันยายน ๔๕ ผู้นำตูวาลูคนใหม่ Tomasi Puapua ประกาศก้องในเวทีขององค์การสหประชาชาติ
“การให้ความช่วยเหลือชาวตูวาลูในฐานะผู้ลี้ภัยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental refugee หรือ Climate refugee)
ไม่ใช่ทางออกเพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาว
พวกเราต้องการให้แผ่นดินและความเป็นชาติของตูวาลูคงอยู่ต่อไป
ไม่ใช่จมทะเลเพราะผลพวงจากความโลภและการบริโภคทรัพยากรแบบตะกละตะกรามของเหล่าประเทศอุตสาหกรรม
เพื่อที่เด็กๆ ของเราจะได้เติบโตขึ้นมาในวิถีทางเดียวกับพวกเรา
บนแผ่นดินของตนเองและท่ามกลางวัฒนธรรมของตนเอง”
แต่เจตนารมณ์ของ Puapua ยังเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม
เพราะถึงขณะนี้ พลเมืองของเขาทยอยเดินทางออกประเทศไปแล้วมากกว่า ๓,๐๐๐ คน
ชาวตูวาลูจึงเป็น “ผู้ลี้ภัยทางสิ่งแวดล้อม” กลุ่มแรกๆ ของโลกที่อพยพจากบ้านเกิดแบบไม่หวนกลับ
โดยมีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปีเป็นปัจจัยบีบบังคับ
ที่น่าเห็นใจกว่าการไม่มีแผ่นดินอยู่หรือไม่มีชาติเป็นของตนเอง ก็คือ
ผลของการวิจัยที่สรุปออกมาว่า…
ชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นกลุ่มคนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ต้นตอของสภาวะโลกร้อน) น้อยที่สุดในโลก
คิดเป็น ๐.๐๖ เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด
พวกเขามีส่วนร่วมในการสร้างผู้ร้ายที่ชื่อ “โลกร้อน” เพียงเศษเสี้ยว
แต่กลับต้องมารับผลกรรมไปเต็มๆ
ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกายังสำราญใจกับการใช้พลังงาน
โดยไม่สนใจที่จะควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแม้แต่น้อย
คุณเเปิดไฟทิ้งไว้
คุณเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยไม่ได้เปิดใช้งาน
คุณขับรถส่วนตัวโดยไม่สนใจการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน
คุณเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นประจำ
คุณหิ้วถุงพลาสติกใบใหม่เข้าบ้านทุกวัน
คุณทิ้งทุกอย่างลงถังขยะ แทนที่จะแยกขวดพลาสติก แก้ว กระดาษขายให้คนรับซื้อของเก่า
หากคุณมีพฤติกรรมที่ว่ามาแม้เพียง ๑ ข้อ ก็ยอมรับความจริงเถอะว่า…
คุณเองมีส่วนร่วมในการสร้าง “ผู้ร้าย” นายนี้ขึ้นมาเหมือนกัน
พึงระลึกไว้ว่ากรุงเทพฯ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วย เช่นเดียวกับเนเธอร์แลนด์ จาการ์ตา บอมเบย์ มะนิลา และเวนิส
เพียงแต่เราโชคดีกว่าประเทศตูวาลูอยู่นิดหน่อย ตรงที่ท้องทะเลยังกลืนกินมาไม่ถึงแผ่นดินบ้านเรา
กระนั้นก็ไม่ควรเย็นใจ เพราะการใช้ชีวิตที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากๆ
ย่อมเพิ่มพลังให้ผู้ร้าย “โลกร้อน” แผลงฤทธิ์ได้มากและเร็วขึ้น
…หรือคุณอยากตามรอยเส้นทางที่ประเทศตูวาลูกำลังจะเดินนำไป…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น