ภาพ A และ B เป็นกิ้งกือมังกรสีชมพูเพศผู้ที่มีลักษณะแตกต่างกัน
ภาพ C กิ้งกือมังกรสีชมพูขณะกำลังผสมพันธุ์ โดยเพศผู้อยู่ข้างบน
ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ศ.ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือ บีอาร์ที ร่วมกับ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และผศ.ดร.กำธร ธีรคุปต์ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าว "กิ้งกือมังกรชมพูกับการค้นพบครั้งแรกของโลก" จัดโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) และบีอาร์ที
ศ.ดร.วิสุทธิ์ กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้ว ศ.ดร.สมศักดิ์และคณะ จากหน่วยปฎิบัติการซิสเทมาติคส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ค้นพบกิ้งกือมังกร (dragon millipede) ชนิดใหม่ของโลก มีชื่อว่า "มังกรชมพู หรือ Shocking Pink Millipede" มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Desmoxytes purpurosea สร้างความตื่นเต้นให้กับนักชีววิทยา ที่ศึกษาด้านสัตว์เลื้อยคลานทั่วโลก โดยล่าสุด การค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพูดังกล่าว ได้รับยกย่องจาก สถาบัน IISE (International Institute for Species Exploration) ของมหาวิทยาลัยอาริสโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าถือเป็นสุดยอดแห่งการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ในลำดับที่ 3 ของโลกจากการประกาศผลรางวัลสุดยอดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ของสถาบัน IISE เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา
"นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอีกประการหนึ่ง ที่เราได้รับยกย่องจากการค้นพบ กิ้งกือมังกรชมพูในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยที่ยังสมบูรณ์อยู่มากโดยจุดเด่นของกิ้งกือมังกรสีชมพูนี้มีความแตกต่างจากกิ้งกือชนิดอื่นๆ โดยมีสีชมพูสด มีลักษณะโครงสร้างหน้าตา มีปุ่มหนาม และขนรอบตัวคล้ายมังกรในเทพนิยาย ที่สำคัญยังมีระบบป้องกันตัว โดยจะขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ออกมาป้องกันศัตรู แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ เพราะปริมาณสารพิษที่ออกมาน้อยมาก นอกจากนี้ ยังพบว่ามีพฤติกรรมที่ชอบออกหากินตอนกลางวัน ทำให้มันต้องปรับตัวให้มีสีสันสนใสแบบ Shocking Pink อีกด้วย" ศ.ดร.วิสุทธิ์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น