วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วันสิทธิมนุษยชนโลก 10 ธันวาคม


ความเป็นมาของวันสิทธิมนุษยชน
           ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ผู้นำประเทศต่างๆ ได้ตระหนักว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดสันติภาพแลความเจริญก้าวหน้าขึ้นในโลก ดังนั้น จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น เพื่อเป็นองค์การโลกที่จะคุ้มครองมนุษยชาติให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ และมีมติประกาศให้วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิทธิมนุษยชน (Human Rights Day) 

         หลังจากนั้นสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ให้ร่างตราสารสิทธิมนุษยชนขึ้น ๒ ฉบับ โดยให้ใช้ชื่อว่า กติกา (convenant) ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมืองฉบับหนึ่ง และอีกฉบับหนึ่งว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยผ่านการรับรองเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ และวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ตามลำดับ และต่อมาได้มีมติประกาศให้ปี ค.ศ. 1995-2004 เป็นทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชนศึกษาของสหประชาชาติ
          สหประชาชาติได้แสดงความห่วงใยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่ของโลก โดยเฉพาะต่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ผู้ไร้ที่อยู่ในประเทศ ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มศาสนา ผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และสื่อมวลชน ต่อการกระทำทารุณเด็ก การใช้แรงงานเด็ก การเกณฑ์เด็กเป็นทหาร เด็กกำพร้าเด็กเร่ร่อน เด็กข้างถนน โสเภณีเด็ก เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา การลักลอบค้าอาวุธสงครามขนาดเล็ก กับระเบิด การทำทารุณต่อนักโทษ ความแออัดในเรือนจำ การขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักโทษ
                มาทบทวนดูว่า 60 ปีที่ผ่านมา สิทธิมนุษยชนโลกมีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด มีอุปสรรคอะไรบ้าง
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมีเพียง 30 มาตราเท่านั้น แต่ละมาตราก็เขียนไว้สั้น ๆ แต่มีความหมาย บนพื้นที่ที่ว่าคนทุกคนมีเสรีและความเท่าเทียมกัน สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องได้รับการเคารพ ซึ่งสอดคล้องกับคำประกาศของฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติปี 1789 ที่ว่า “คนทุกคนเกิดมามีเสรีและเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ” ในอังกฤษก็มีปฏิญญาปี 1689 ที่ห้าม “การลงโทษอย่างป่าเถื่อน หรือกระทำการที่ไร้มนุษยธรรมและลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์”

โลกในช่วงเวลานั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยรัฐ โดยเฉพาะในประเทศคอมมิวนิสต์ ประเทศเผด็จการ รัฐด้อยพัฒนาในแอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกา จึงเป็นของแน่นอนที่รัฐบาลประเทศเหล่านี้จำนวนไม่น้อยคัดค้าน ไม่ยอมรับปฏิญญาดังกล่าว เช่น สหภาพโซเวียดไม่รับในเรื่องสิทธิทรัพย์สินส่วนบุคคลเพราะขัดกับหลักการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ สหภาพแอฟริกาใต้ไม่ยอมรับศักดิ์ศรีของมนุษย์ เพราะในประเทศนั้นมีลัทธิแบ่งผิว ซาอุดิอาราเบียไม่ยอมรับโดยอ้างว่าขัดกับหลักศาสนา กว่าจะให้ประเทศทั่วโลกยอมรับปฏิญญานี้ได้ก็ใช้เวลาอีกหลายสิบปีหลังจากปี 2948

แม้ไม่ใช่สนธิสัญญาและไม่มีบทลงโทษสำหรับรัฐที่ไม่ปฏิบัติตาม ประเทศที่ปฏิบัติตามระยะแรกส่วนใหญ่เป็นฝรั่งยุโรปและอเมริกาซึ่งมีพัฒนาการทางความคิดด้านสิทธิมนุษยชนก้าวหน้า ส่วนประเทศที่ไม่ยอมปฏิบัติตามมักอ้างเรื่องอำนาจอธิปไตยและขนบธรรมเนียมประเพณี อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สหประชาชาติโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคเอกชนระหว่างประเทศ เช่น ศูนย์เฝ้าระวังเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Right Watch) หรือ ศูนย์นิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ที่ร่วมกับตรวจสอบ เผยแพร่ รวมทั้งประเทศฝรั่งมหาอำนาจเช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป ที่หันมาใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนกดดันประเทศที่รับความช่วยเหลือ หรือประเทศที่ค้าขายด้วย ให้ปฏิบัติตามปฏิญญาสากล ที่สำคัญคือ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเริ่มมีข้อมติดำเนินการต่อประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทำให้ในปัจจุบัน สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนดีขึ้นในระดับหนึ่ง หลายประเทศได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ องค์กรระดับภูมิภาคเขียนไว้ในกฎบัตร ทำให้ประเทศสมาชิกต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

60 ปีผ่านไป โลกยังมีปัญหาสิทธิมนุษยชน 4 ประเด็นสำคัญ คือ (1) ผู้หญิงทั่วโลกยังถูกกระทำรุนแรงโดยคนในครอบครัว และเวลาไปหางานทำก็ไม่ค่อยได้ปัญหาแบ่งแยกเรื่องเพศ (2) ชนกลุ่มน้อยในประเทศยังถูกแบ่งผิว ถูกกระทำรุนแรงทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา (3) สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารถูกปฏิเสธในหลายประเทศ ทำให้คนหลายล้านคนเข้าไม่ถึงข้อมูลที่ถูกต้องเพราะรัฐบาลเซ็นเซอร์และถูกห้ามไม่ให้ตีพิมพ์ (4) คนอย่างน้อย 1,000 ล้านคนทั่วโลก หรือร้อยละ 20 ไม่อาจใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการมีอาหารและน้ำดื่มสะอาดเพียงพอสำหรับบริโภค

จากรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากล พบว่า ยังมี 80 ประเทศที่ประชากรยังถูกกระทำไม่เหมาะสมหรือถูกทรมาน อีกอย่างน้อย 54 ประเทศที่เจอกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม และอีก 77 ประเทศที่ประชากรไม่สามารถพูดแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี แม้แต่สหรัฐซึ่งควรเป็นต้นแบบของสิทธิมนุษยชนยังกระทำทารุณต่อนักโทษในคดี 9/11 ที่กวนตานาโม

โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า 60 ปีผ่านไป สถานการณ์สิทธิมนุษยชนโลกภายใต้ปฏิญญา มีทั้งความก้าวหน้าระดับหนึ่ง และยังมีปัญหาที่รอการแก้ไขอีกไม่น้อย แต่สิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิ่งสากลจะมีบทบาทมากขึ้นในทุกสังคม

         ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ใช้กันมาในอดีต ได้กล่าวถึงสิทธิมนุษชนไว้เป็นบางส่วน จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา
จักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ได้เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ค่อนข้างจะสมบูรณ์ เช่น "มาตราที่ ๔ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับ
ความคุ้มครอง" ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๑ ที่กล่าวไว้ว่า "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสรเสรีและเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประ
สิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง" นับได้ว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" เพิ่งได้รับการบัญญัตืในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นครั้งแรก ดังนั้น การ
ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

          นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังได้บัญญัติองค์กรอิสระ เรียกว่า "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน" เข้าไว้ด้วยในมาตรา ๑๙๙ และ ๒๐๐ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีจำนวน ๑๑ คน มาจากการสรรหา อยู่ในวาระ ๖ ปี มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

   ๑. ตรวจสอบและรายงานการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี

   ๒. เสนอมาตราการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคล หรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงาน ต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป

   ๓. เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฏหมาย กฏหรือข้อบังคับต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
          รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เน้นเรื่องสิทธิและเสรีภาพค่อนข้างมาก และย้ำว่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยไม่คำนึงถึงแหล่งกำเนิด เพศ ศาสนา และมีบทในหมวด 3 ว่าด้วย สิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทยถึง 40 มาตรา แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบันได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าครั้งใด ๆ นอกจากจะมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูแลอยู่แล้ว ยังมีองค์กรพัฒนาภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายองค์กรทำงานควบคู่กันไป สอดคล้องกับการทำงานของคณะกรรมการว่าด้วย สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนสององค์กรหลักคือ องค์กรนิรโทษกรรมสากลของอังกฤษและ Human Right Watch ของอเมริกา
**************************************************************************
บรรณานุกรม
               วรนุช อุษณกร.ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์,๒๕๔๓
               http://www.the-thainews.com/analized/inter/int080152_7.htm
**************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น