วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คนไทยอ่านหนังสือ 35 นาที/วัน


สํานักงานสถิติแห่งชาติ สํารวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2554 โดยเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนพฤษภาคม -มิถุนายน จากจํานวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 53,000 ครัวเรือน
ผลการสารวจที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้ การอ่านของเด็กเล็ก นอกเวลาเรียน ทั้งการอ่านด้วยตัวเองและมีผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง พบว่า เด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือ ร้อยละ 52.8 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปี 2551 โดยเด็กผู้หญิงอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าเด็กผู้ชาย คือร้อยละ 55.9 และ 49.9 ตามลําดับ
ขณะที่เด็กในเขตเทศบาล อ่านหนังสือสูงกว่า เด็กนอกเขตเทศบาล โดยเด็กเล็กในกรุงเทพมหานคร มีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุด ร้อยละ 67.2 และเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ขณะที่ภาคกลาง เด็กเล็ก มีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด ร้อยละ 47.4
ขณะที่อัตราการอ่านนอกเวลาเรียนและนอกเวลาทำงานของคนไทยที่อายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป เปลี่ยนไปจากการอ่านของเด็กเล็กคือ มีอัตราการอ่านร้อยละ 68.8 มากกว่าเด็กเล็ก และผู้ชายอ่านมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย คือร้อยละ 69.3 และ 68.3 ตามลำดับ
ขณะที่กรุงเทพมหานคร ยังเป็นพื้นที่ที่มีการอ่านของคนกลุ่มนี้มากที่สุดในประเทศเช่นเดิม คือร้อยละ 89.3 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีอัตราการอ่านหนังสือต่ำที่สุดคือ ร้อยละ 62.8
เมื่อพิจารณาจากช่วงอายุ พบว่า วัยเด็กอายุ 6-14 ปี มีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุดถึงร้อยละ 91.2 รองลงมาคือเยาวชน อายุ 15-24 ปี อ่านหนังสือร้อยละ 77.9 วัยทํางานอายุ 25-59 ปีอ่านหนังสือร้อยละ 66.5 และตํ่าสุดคือวัยสูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือร้อยละ 43.9
เมื่อนำผลการสำรวจนี้ไปเปรียบเทียบกับปี 2551 มีเพียงกลุ่มเยาวชนเท่านั้น ที่มีอัตราการอ่านหนังสือลดลง ส่วนจำนวนเวลาที่กลุ่มตัวอย่างใช้ในการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียนและนอกเวลาทำงานคือ ผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือเฉลี่ย 35 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชน ใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 40-41 นาทีต่อวัน มากกว่า วัยทำงานและสูงอาย ที่ใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ย 31-32 นาทีต่อวัน
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 พบว่ากลุ่มเด็กคืออายุ 6-14 ปี ใช้เวลาอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือจาก 38 นาที เพิ่มเป็น 41 นาที ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ อ่านหนังสือลดลงทั้งหมด
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น