วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นักดาราศาสตร์ไทยค้นพบ ดาวแปรแสง ดวงใหม่

นักดาราศาสตร์ไทยค้นพบ "ดาวแปรแสง" หรือดาวฤกษ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงความสว่าง ดวงใหม่ ชี้เป็นผลงานวิจัยที่น่าภาคภูมิใจของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)

นายสมสวัสดิ์ รัตนสูรย์ เจ้าหน้าที่เทคนิคดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หนึ่งในคณะผู้วิจัย เปิดเผยว่า เมื่อเดือน ธ.ค. 2555 ได้ถ่ายภาพดาว R CMa ด้วยฟิลเตอร์ B ต่อกับกล้องโทรทรรศน์ ขนาด 0.5 เมตร ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นเวลา 5 คืน เมื่อวัดความสว่างดาว TYC 5965-2398-1 เทียบกับดาวดวงอื่น พบการเปลี่ยนแปลงความสว่าง 0.303 วัน และระดับความสว่างเปลี่ยนไปประมาณ 0.09 แมกนิจูด สอดคล้องกับลักษณะดาวคู่ แบบ W Uma ซึ่งเป็นระบบดาวที่มีดาวฤกษ์ 2 ดวงโคจรรอบกันและอยู่ใกล้กันมากจนเห็นเป็นดาวดวงเดียวเมื่อมองจากโลก แต่ระบบดาวนี้จะแปรความสว่างตามรอบโคจร เมื่อทั้งคู่เคลื่อนมาบังกันจะสว่างน้อยที่สุด แต่เมื่อไม่บังกันก็สว่างมากที่สุด

ด้าน ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้วิจัยอีกท่านหนึ่ง อธิบายเพิ่มเติมว่า ดาวแปรแสง เป็นดาวฤกษ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงความสว่าง ซึ่งอาจเกิดจากสมบัติทางกายภาพของดาว เช่น ผิวดาวปะทุ พื้นผิวดาวไม่เสถียรจึงเกิดกระเพื่อม หรือเกิดจุดใหญ่บนพื้นผิว รวมทั้งการระเบิดเนื่องจากสสารภายนอกที่ตกลงสู่ดาว หรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การที่ดาวฤกษ์เป็นสมาชิกของระบบดาว ทำให้เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดาวโคจรบังกัน

การศึกษาดาวแปรแสงประเภทต่างๆ ทำให้ทราบขนาด มวล รูปร่าง อุณหภูมิ และขนาดของวงโคจรของระบบดาว นอกจากนี้ ยังช่วยให้เข้าใจวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ แรงกระทำระหว่างดาวฤกษ์กับดาวฤกษ์ หรือแรงกระทำระหว่างดาวฤกษ์กับวัตถุอื่นๆ เช่น ดาวเคราะห์ ดาวนิวตรอน ดาวแคระขาว หลุมดำ การจะค้นพบดาวแปรแสงได้ ต้องสังเกตการณ์ต่อเนื่องยาวนาน เพื่อยืนยันการแปรแสงที่แท้จริงจากดาวฤกษ์ ลดตัวแปรจากชั้นบรรยากาศโลก หรืออัตราเครื่องมือคลาดเคลื่อน

ปัจจุบันมีโอกาสค้นพบดาวแปรแสงดวงใหม่น้อยมาก เพราะกล้องโทรทรรศน์ในต่างประเทศถูกใช้ในงานวิจัยหลากหลาย การสังเกตการณ์วัตถุใดวัตถุหนึ่งต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงน้อยมาก ดาวแปรแสงที่พบใหม่ดวงนี้ เป็นผลพลอยได้จากงานวิจัยไทย เนื่องจากทีมนักดาราศาสตร์ไทยกำลังติดตามสังเกตดาวแปรแสงอีกดวงหนึ่งอยู่ จึงค้นพบดาวแปรแสงดวงนี้โดยตรวจสอบภาพถ่ายที่ถ่ายต่อเนื่องกัน 5 คืน มากกว่า 4,000 ภาพ

ส่วน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ครั้งนี้นับเป็นผลงานวิจัยที่น่าภาคภูมิใจของ สดร. แม้ว่างานวิจัยดาราศาสตร์ขั้นสูงของไทย ยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่เมืองไทยมีหอดูดาวแห่งชาติติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร บวกกับนักวิจัยไทยผู้มุ่งมั่น ทุ่มเท คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ผลงานวิจัยทางดาราศาสตร์ของคนไทย จะเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอย่างแน่นอน สดร.จะยังคงทำการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อความรู้ของคนไทยและของโลก

ข้อมูลและภาพประกอบ : ไทยรัฐออนไลน์ 5 ตุลาคม 2556

http://blog.eduzones.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น