วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis)



เชื้อ Streptococcus suis เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดกรัมบวก ลักษณะเซลล์ของแบคทีเรียจะอยู่เป็นคู่ หรือเป็นสายยาวขนาดต่างๆ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในลูกสุกร พบในลูกสุกรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงหย่านม มักตรวจพบเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น ในโพรงจมูก และต่อมทอนซิล บางครั้งจะพบเชื้อในช่องคลอดของแม่สุกร สุกรเหล่านี้จะเป็นแหล่งรังโรค ทำให้เชื้อแพร่ไปยังลูกสุกร หรือสุกรในฝูงได้


                อาการในสุกร 
                เชื้อ S. suis เป็นเชื้อที่มีปัญหาอย่างมากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ปัจจุบันพบจำนวน 34 serotype แต่ serotype ที่มักก่อให้เกิดโรคในสุกร ได้แก่ serotype ½, 2, 14 และ 19 โดยเฉพาะเชื้อ S. suis serotype 2 สามารถติดต่อสู่คนได้ และทำให้สมองอักเสบ
                สุกรที่ติดเชื้อจะเกิดสภาวะเลือดเป็นพิษ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง และข้ออักเสบ และตายอย่างเฉียบพลัน สุกรบางตัวอาจตายโดยไม่แสดงอาการมาก่อน ในสุกรหย่านม อาการทางระบบประสาทจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสในฝูง โดยพบว่าเวลาขาจะไม่สัมพันธ์กัน  นอนขาตะกุย มีอาการชัก เหยียดเกร็ง กรอกตาไปมา เยื่อบุตาบวมแดง นอกจากนี้ยังพบอาการปอดบวม และข้ออักเสบซึ่งเนื่องมาจากโลหิตเป็นพิษ สุกรบางตัวพบลิ้นหัวใจอักเสบมีฝีหนอง ระบบสืบพันธุ์ล้มเหลว อาการของโรคที่เกิดขากเชื้อ S. suis จะคล้ายกับโรคแกลสเซอร์ที่เกิดจากเชื้อ Haemophilus parasuis และโรค edema disease ที่จากเชื้อ E. coli

               
                อาการในคน
                การติดเชื้อจากสุกรไปสู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่นติดทางบาดแผลที่ผิวหนัง การกินเนื้อหรือเลือดสุกรที่ไม่สุก การติดเชื้อทางการหายใจมีโอกาสน้อย และไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อโดยการสัมผัสโดยตรง อาการที่พบได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายติดเชื้อในกระแสเลือดโดยไม่พบภาวะเยื่อหุ้มสมอง บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น หลอดเลือดอักเสบ และอุจจาระร่วง บางรายติดเชื้อในเลือดอย่างรุนแรง บางรายติดเชื้อในเยื่อหุ้มหัวใจแบบกึ่งเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางรายยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น หูหนวกทั้ง 2 ข้าง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก

                การเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติ
                เชื้อ S. suis ทำให้เกิดโรคในหลายระบบการเก็บตัวอย่างจะเน้นอวัยวะที่ได้รับผลจากการติดเชื้อ และเกิดความผิดปกติ เช่น หัวใจ ปอด ม้าม ไต สมอง ต่อมน้ำเหลือง หนองในข้อ รก ตัวอ่อนในแม่อุ้มท้อง และนมจากเต้านมอักเสบ ตัวอย่างทั้งหมดควรนำมาเพาะเชื้อโดยเร็ว โดย swab หนองจากข้อ และต้องนำมาเพาะเชื้อโดยทันที หรือไม่ช้ากว่า 3 ชั่วโมง การเก็บในอาหารเลี้ยงเชื้อ transport media จะช่วยรักษาสภาพของตัวอย่าง
               
                การควบคุมและกำจัดโรคจากฟาร์มสุกร
เชื้อ S. suis serotype 2 เป็นเชื้อที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และทางสาธารณสุขมากกว่าเชื้อ S. suis serotype อื่น จึงได้มีการศึกษาวิธีกำจัดเชื้อออกจากฟาร์มมากกว่า serotype อื่น สุกรเป็นแหล่งหลักในการเป็นพาหะของเชื้อโดยที่เชื้อจะอาศัยอยู่ที่ crypt ของทอนซิล และโพรงจมูก เชื้อ S. suis สามารถที่จะวนเวียนอยู่ในประชากรของหนู mice ส่วนหนู rat พบว่าเชื้อจะไม่มีการเพิ่มจำนวนแต่สามารถที่เป็นพาหะแบบ mechanical ได้ พบว่าเชื้อสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ในกระเพาะของแมลงวันได้นานถึง 5 วัน

                วิธีกำจัดเชื้อจากฟาร์มที่มีประสิทธิภาพดีได้แก่
1.       การกำจัดเชื้อโดยวิธี depopulation & repopulation โดยทำ total depopulation ร่วมกับการทำความสะอาด และการฆ่าเชื้อในโรงเรือน วิธีนี้จะใช้ได้ผลดีกับฟาร์มในระบบปิด
2.       การให้ยาร่วมกับการหย่านม ทำได้โดยการหย่านมลูกสุกรที่อายุ 5 วัน ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม beta-lactam โดยการกินในแม่สุกรใกล้คลอด และลูกสุกรหย่านมจะสามารถกำจัดเชื้อ S. suis serotype 2 ได้ การใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มอื่นจะไม่สามารถกำจัดเชื้อได้

                การป้องกันและรักษาในคน
                โรคนี้สามารถรักษาให้หายโดยการให้ยาปฏิชีวนะ โดยยาที่รักษาได้ผลได้แก่ แอมพลิซิลิน, เพนนิซิลิน, ซีฟาแลคซิน, คลาวูลานิคแอซิค และซิโปรฟลอกซาซิน โดยธรรมชาติ เชื้อ Streptococcus จะถูกทำลายด้วยความร้อน การกินอาหารแบบปรุงสุกจึงลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคในคน นอกจาก นี้ผู้ปฏิบัติงานในฟาร์มหรือโรงฆ่าสัตว์ ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล สวมรองเท้าบู๊ต หรือ สวมถุงมือระหว่างปฏิบัติงาน จะป้องกันการแพร่เชื้อจากสุกรมาสู่คนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น