วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

ศศิน เฉลิมลาภ นักธรณีวิทยา ผู้ลั่นวาจาพิทักษ์ผืนป่าแม่วงก์




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ Seub nakhasathien สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอมเฟซบุ๊ก Seub Nakhasathien Foundation เฟซบุ๊ก Sasin Chalermlarpนิตยสาร ค ฅน 

          ศศิน เฉลิมลาภ ประวัตินักธรณีวิทยาที่กลายมาเป็นนักอนุรักษ์อย่างเต็มตัว ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 

          เมื่อปลายปี 2554 ในช่วงเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทย ชื่อของ "ศศิน เฉลิมลาภ" ปรากฏขึ้นตามหน้าสื่อในฐานะผู้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วม แต่มาวันนี้ ชื่อของ ศศิน เฉลิมลาภ กลับมาอยู่ในกระแสข่าวอีกครั้ง ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ประกาศจะปกป้องผืนป่าแม่วงก์จากโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้ถึงที่สุด เพราะเห็นแล้วว่าการสูญเสียผืนป่าแม่วงก์อันอุดมสมบูรณ์ไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์เลย...

เขื่อนแม่วงก์

          ด้วยบทบาทหน้าที่อันโดดเด่น จากการลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ ก็ทำให้หลายคนอยากทำความรู้จัก ศศิน เฉลิมลาภ ให้มากขึ้น และนี่ก็คือตัวตนของชายผู้นี้...

          ศศิน เฉลิมลาภ เกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2511 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในช่วงที่เรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 เขามีโอกาสเข้าค่ายอนุรักษ์กับสมาคม YMCA ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการซึมซับความรักธรรมชาติ อีกทั้งยังมีความสนใจในเพลงเพื่อชีวิต ซึ่ง ศศิน เฉลิมลาภ บอกว่าเพลงเพื่อชีวิตในปี พ.ศ. 2526 ของวงคาราวาน มีส่วนหล่อหลอมความคิด และการสร้างตัวตนที่มีอุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงสังคมของตัวเขาเอง 

          และด้วยความที่ ศศิน เฉลิมลาภ ชอบเดินทางออกสำรวจ และต้องการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของโลก เขาจึงเลือกศึกษาต่อในภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นก็ทำกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนา สลับกับการเข้าห้องแล็บ ลงพื้นที่สำรวจชั้นหิน ทำเหมืองแร่ ฯลฯ เมื่อเรียนจบ ก็ได้เข้าเป็นอาจารย์สอนหนังสือในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งการทำงานเป็นอาจารย์ และนักวิชาการด้านธรณีวิทยามานานกว่า 10 ปี ทำให้เขาได้ติดตามงานด้านอนุรักษ์ไปด้วย


ศศิน เฉลิมลาภ


          จุดเริ่มต้นแรก ๆ ของงานอนุรักษ์ก็คือ ในปี 2541 ศศิน เฉลิมลาภ ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานติดตามเรื่องสารตะกั่วที่เหมืองคลิตี้ ที่สารตะกั่วได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชนเป็นอย่างมาก และงานนี้ก็เป็นงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกับศูนย์กะเหรี่ยงเข้ามาดูแลอยู่พอดี อาจารย์ศศินจึงได้เข้าไปร่วมทำงานกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรด้วย จนกระทั่งทางมูลนิธิฯ เสนอให้เขาเป็นกรรมการ และผู้จัดการโครงการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตก กระทั่งได้ทำงานร่วมกันมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดเขาก็ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และอนุกรรมการเพื่อการศึกษาและตรวจสอบกรณีปัญหาเหมืองแร่ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
          อาจารย์ศศิน เคยพูดเสมอว่า เขาเรียนจบมาทางด้านธรณีวิทยา คือต้องศึกษาชั้นหิน การทำเหมืองแร่ ซึ่งไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับป่าไม้เท่าไร แถมยังดูตรงข้ามกับสายอาชีพที่จบมาด้วย เพราะคนเรียนธรณีวิทยาต้องดูเรื่องการสร้างเขื่อน ทำเหมือง แต่เขากลับมาทำงานด้านอนุรักษ์ที่ต้องมาดูว่าการสร้างเขื่อน สร้างเหมืองกระทบกับประชาชนหรือไม่ กระทบกับสิ่งแวดล้อมแค่ไหน แต่ที่ทำเพราะเขาสนใจงานด้านนี้ รวมทั้งเรื่องงานด้านมนุษยชนที่เป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาก้าวเข้าสู่งานอนุรักษ์อย่างเต็มตัว


ศศิน เฉลิมลาภ


          ที่ผ่านมา ศศิน เฉลิมลาภ ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาทรัพยากรต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งเป็นตัวกลางประสานความเข้าใจกับชาวบ้าน อย่างเช่นโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือ จองป่า ที่เขาจัดทำขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และการประสานความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้าน และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อให้ชุมชนกว่า 100 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้มีส่วนในการจัดการและดูแลผืนป่าด้วย

          นอกจากนี้ก็ยังมีงานด้านวิชาการที่ต้องคอยให้ความรู้ ให้ข้อมูลแก่ฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวบ้าน เพื่อความตระหนักในเรื่องการรักษาผืนป่าตามเจตนารมณ์ของ "สืบ นาคะเสถียร" รวมทั้งเป็นอนุกรรมการในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งถึงแม้เขาจะไม่เคยทำงานร่วมกับ "สืบ นาคะเสถียร" แต่ก็เห็นไม่ต่างจากอุดมการณ์ของวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนนี้




          อีกหนึ่งผลงานที่ทำให้ทุกคนรู้จักชื่อของ "ศศิน เฉลิมลาภ" ก็คือการทำหน้าที่เป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมเมื่อครั้งที่เกิดอุทกภัยใหญ่ในประเทศไทย เมื่อปลายปี 2554 ครั้งนั้น หนุ่มนักอนุรักษ์คนนี้ได้อัพคลิปลงในเว็บไซต์ยูทูบ เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์น้ำให้คนเข้าใจและเห็นภาพชัดเจน ด้วยการใช้ภาษาง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน จนเป็นที่ถูกอกถูกใจของวัยรุ่น ทำให้เขาได้รับเชิญจากรายการต่าง ๆ ให้ไปร่วมวิเคราะห์ไม่เว้นแต่ละวันเลยทีเดียว

          และกับการเคลื่อนไหวล่าสุดที่เป็นข่าวมาเรื่อย ๆ ในช่วงปีสองปีหลัง กระทั่งได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงกลางปี 2556 ก็คือ ภารกิจคัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ที่เป็นหนึ่งในอภิมหาโปรเจคท์ป้องกันอุทกภัยของรัฐบาล วงเงินกว่า 3.5 แสนล้าน
 

ศศิน เฉลิมลาภ



          เรื่องนี้ ศศิน เฉลิมลาภ มองว่า รายงานฉบับดังกล่าวให้ข้อมูลไม่ครบ และตกหล่นในประเด็นเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศ ผืนป่า และสัตว์ป่า ขณะเดียวกัน เขาก็มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า การสูญเสียผืนป่าแม่วงก์อันอุดมสมบูรณ์นั้น ไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์เลย และเขื่อนก็จะช่วยรับน้ำท่วมได้เพียง 1% เท่านั้นเอง แต่เมื่อได้เข้าไปชี้แจงให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับฟังแล้วกลับไม่ได้รับการตอบรับที่น่าพอใจ เขาจึงประกาศเดินเท้าจากกรุงเทพฯ ไปยังอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ระยะทางกว่า 388 กิโลเมตร เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ก่อนจะกลับมายังกรุงเทพฯ เพื่อจัดเวทีนำเสนอแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
          "ตัวผมไม่ใช่นักอนุรักษ์ที่มาดุ้น ๆ แต่ต้น เพราะผมเรียนธรณีวิทยามา ไม่ได้เรียนวนศาสตร์ กลับกัน ผมเรียนโทเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม เรื่องธรณีวิทยา เรื่องการขุดแร่ ผมสอนหนังสือให้เด็กที่มีอาชีพสร้างเขื่อน ตัดถนน หินชนิดไหน โครงสร้างแบบไหนเหมาะกับการสร้างเขื่อน แต่โดยส่วนตัวผมขัดแย้งกับมันมาตลอด ผมไม่ได้ปฏิเสธว่า มันต้องมีการใช้ทรัพยากร แต่ผมไม่อยากเข้าไปยุ่ง เรื่องนี้มันมีเยอะแล้ว แต่โลกต้องมีคนมาถ่วงดุล ผมอยากทำแบบนี้ ผมไม่ได้คิดอะไร ผมแค่ทำให้พี่สืบ แล้วป่าวันนี้มันก็เหลือน้อยลงทุกทีแล้ว ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ..."...อาจารย์ศศิน เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร ค ฅน ฉบับเดือนมิถุนายน 2555 เมื่อพูดถึงภารกิจการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์

          จากประวัติและผลงานของ ศศิน เฉลิมลาภ แล้ว คงยืนยันได้ว่า นักวิชาการคนนี้มีเลือดของความเป็นนักอนุรักษ์ และมีเจตนารมณ์ที่จะพิทักษ์ผืนป่ามากจริง ๆ

Credit : http://hilight.kapook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น